ต่อภาษีรถยนต์ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง

Last updated: 6 เม.ย 2564  |  784 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต่อภาษีรถยนต์ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง

ต่อภาษีรถยนต์ ต่อทะเบียนรถ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง

รวมข้อมูลเรื่องการต่อภาษีรถยนต์ หลักการคำนวณเบื้องต้นว่า รถยนต์แต่ละประเภทต้องเสียภาษีเท่าไหร่ การเสียภาษีรถหรือต่อทะเบียนรถประจำปีต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และปัจจุบันนี้ เสียภาษีรถยนต์ได้ที่ไหน มีช่องทางไหนให้เลือกบ้าง

ในทุก ๆ ปี เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนย่อมมีหน้าที่ในการดำเนินการเสียภาษีรถประจำปี หรือที่เรียกว่า ต่อภาษีรถยนต์ หรือ ต่อทะเบียนรถ ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2562 ซึ่งในหมวด 3 ข้อที่ 17 ระบุไว้ว่า "รถทุกคันที่จดทะเบียนแล้ว ต้องเสียภาษีรถประจำปี เว้นแต่รถที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีประจำปี"

แน่นอนว่าสิ่งที่เจ้าของรถจำเป็นต้องตรวจสอบทำความเข้าใจก็คือ เรื่องของค่าใช้จ่าย การต่อภาษีรถยนต์ รถของตัวเองจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ฉะนั้นลองมาดูรายละเอียดเรื่องการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีแต่ละส่วนกัน

ภาษีรถยนต์แต่ละประเภท
สำหรับรถยนต์แต่ละประเภทนั้นมีกำหนดอัตราค่าภาษี และวิธีจัดเก็บ คำนวณภาษีแตกต่างกันไป ดังนี้

จัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.) ได้แก่
  1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน
จัดเก็บเป็นรายคัน ได้แก่
  1. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 100 บาท
  2. รถจักรยานยนต์สาธารณะ คันละ 100 บาท
  3. รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล คันละ 50 บาท
  4. รถพ่วงประเภทอื่น ๆ คันละ 100 บาท
  5. รถบดถนน คันละ 200 บาท
  6. รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร คันละ 50 บาท
จัดเก็บตามน้ำหนัก ได้แก่
  1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
  2. รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์บริการ
  3. รถยนต์รับจ้าง
  4. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถลากจูง รถแทรกเตอร์ที่มิได้ใช้ในการเกษตร
การจัดเก็บภาษีรถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้า
  1. หากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้เก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน
  2. กรณีเป็นรถประเภทอื่นให้จัดเก็บเป็นรายคันหรือจัดเก็บตามน้ำหนักในอัตราครึ่งหนึ่ง
ต่อภาษีรถยนต์ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
ในส่วนของรถยนต์นั่งทั่วไป หรือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งนั้น จะจัดเก็บภาษีตามความจุกระบอกสูบ (ซี.ซี.) ดังนี้
  • ความจุกระบอกสูบ 600 ซี.ซี. แรก - ซี.ซี.ละ 0.50 บาท
  • ความจุกระบอกสูบ 601 - 1,800 ซี.ซี. - ซี.ซี. ละ 1.50 บาท
  • ความจุกระบอกสูบ เกินกว่า 1,800 ซี.ซี. - ซี.ซี. ละ 4.00 บาท
หมายเหตุ -  หากเป็นรถของนิติบุคคลที่มิได้เป็นผู้ให้เช่าซื้อ จะต้องเสียภาษีในอัตราสองเท่า
ทั้งนี้หากเป็นรถที่จดทะเบียนมาแล้ว 5 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อ ๆ ไป ดังนี้
  • ปีที่ 6 ร้อยละ 10
  • ปีที่ 7 ร้อยละ 20
  • ปีที่ 8 ร้อยละ 30
  • ปีที่ 9 ร้อยละ 40
  • ปีที่ 10 และปีต่อ ๆ ไป ร้อยละ 50
ตัวอย่างการคำนวณภาษีรถกระบะ 4 ประตู เครื่องยนต์ขนาดความจุกระบอกสูบ 2,755 ซี.ซี.
  1. 600 ซี.ซี. แรก - ซี.ซี. ละ 0.50 บาท วิธีคิด 600 x 0.5 = 300 บาท
  2. 601 - 1,800 ซี.ซี. - ซี.ซี. ละ 1.50 บาท วิธีคิด (1,800 - 600) = 1200 x 1.50 = 1,800 บาท
  3. 1,801-2,755 ซี.ซี. - ซี.ซี. ละ วิธีคิด (2,755-1,800) = 955 x 4 = 3,820
นำตัวผลลัพธ์ของแต่ละช่วง ซี.ซี. มาบวกกัน - 300+1,800+3,820 = 5,920 บาท
กรณีที่รถมีอายุการใช้งานเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป ก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ เช่น
  • เมื่ออายุรถเข้าปีที่ 6 นำ 5,920-10% = 5,328 บาท
  • เมื่ออายุรถเข้าปีที่ 7 นำ 5,920-20% = 4,736 บาท
  • เมื่ออายุรถตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป 5,920-50% = 2,960 บาท


ต่อภาษีรถยนต์ใช้เอกสารอะไรบ้าง
  1. คู่มือจดทะเบียนรถฉบับจริงหรือสำเนา
  2. หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เรียกว่า หาง พรบ.
  3. หากเป็นรถที่เข้าข่ายต้องตรวจสภาพให้นำเข้าตรวจกับสถานตรวจสภาพรถเอกชนให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งได้แก่
- รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
- รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป
- รถที่ติดตั้งแก๊สต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบและทดสอบตามระยะเวลาที่กำหนด
ต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้าได้กี่วัน
กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้สามารถต่อภาษีรถยนต์ล่วงหน้าได้ 90 วัน ก่อนครบอายุภาษี โดยเมื่อเตรียมเอกสารหลักฐานเรียบร้อยแล้วสามารถเลือกใช้บริการช่องทางต่าง ๆ ได้โดยมีเงื่อนไขคือ
  • หากเป็นรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ไม่มีภาษีค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 1 ปี สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ และช่องทางอื่น ๆ ได้ทันที
  • ส่วนรถที่เข้าข่ายต้องตรวจสภาพก่อนชำระภาษี แนะนำให้ใช้บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax), บริการช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax) ที่ห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์-อาทิตย์, ที่ทำการไปรษณีย์ หรือธนาคารที่ร่วมโครงการกับกรมการขนส่งทางบก หรือที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ

ต่อภาษีรถยนต์ช้า ค่าปรับเท่าไหร่
การชำระภาษีรถประจำปีล่าช้าจะมีค่าปรับในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน และหากขาดการติดต่อกันเกิน 3 ปี จะส่งผลให้ทะเบียนรถถูกระงับทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางทะเบียน อย่างเช่น การโอนเปลี่ยนชื่อ แจ้งเปลี่ยนสี แก้ไขรายการคู่มือรถได้

ขอบคุณ ข้อมูล kapook


  ติดต่อสอบถามพนักงาน  

โทร. 093-9946227

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้